วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ป่าเต็งรัง


ป่าเต็งรัง (Deciduous Dipterocarp Forest)
ป่าเต็งรังเป็นป่าผลัดใบประเภทหนึ่งที่ขึ้นได้ดีทั้งในพื้นที่ที่เป็นที่ราบต่ำและที่มีความสูง
จากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร ป่าชนิดนี้ทางภาคเหนือเรียกกันว่า "ป่าแพะ" ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกกันว่า "ป่าโคก" หรือ "ป่าแดง" พันธุ์พืชที่สำคัญได้แก่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้เหียง ไม้พลวง และไม้ยางกราด ไม้ขนาดกลาง เช่น ไม้มะขามป้อม ไม้ยอเถื่อน ไม้มะม่วงหัวแมลงวัน ไม้กระโดน และหนามเคล็ด ไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น แสลงใจ เหมือดแอ พุดทุ่ง ปอบิด เป้ง และปรงเหลี่ยม ไม้ล้มลุกหลายชนิดที่สืบพันธุ์ด้วยเมล็ดและหน่อใต้ดิน เช่น ไผ่เพ็ก เปราะป่า ปอเต่าไห้ เอื้องหมายนา บุก พืชตระกูลขิงข่า เช่น กระเจียวแดง กระเจียวขาว และพืชตระกูลหญ้า ตลอดจนพืชจำพวกอิงอาศัยอีกหลายชนิด สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าเต็งรัง เช่น วัวแดง กระทิง กวางป่า เก้ง กระต่ายป่า เสือ สุนัขจิ้งจอก ตลอดจนพวกสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกและสัตว์ปีก เช่น ไก่ป่า นกชนิดต่าง ๆ

ป่าเบญจพรรณ


ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest)

ป่าเบญจพรรณเป็นป่าผลัดใบประเภทหนึ่งที่ต้นไม้ส่วนใหญ่ต่างทิ้งใบหมดในช่วงฤดูแล้งและเริ่มผลิใบใหม่ในต้นฤดูฝน ประเทศไทยพบป่าเบญจพรรณได้ทั่วไปทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร พันธุ์ไม้เด่นในป่าเบญจพรรณได้แก่ ไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้มะค่าโมง ไม้ตะแบกใหญ่ ไม้ไผ่ เช่น ไผ่หก ไผ่ป่า ไผ่รวก ไผ่ข้าวหลาม ไม้เถา เช่น เครืออ่อน รางจืด และไม้อิงอาศัย เช่น กระแตไต่ไม้ นมตำเลีย กระเช้าสีดา เอื้องกะเรกะร่อน เอื้องเงิน นอกจากนี้ป่าเบญจพรรณยังอุดมไปด้วยเฟินชนิดต่าง ๆ อีกหลากหลายชนิด ตลอดจนพืชสมุนไพรที่สำคัญ เช่น บุกและพญากาสักดำ สัตว์ป่าในป่าเบญจพรรณได้แก่ ช้างป่า กระทิง กวางป่า เก้ง หมาไม้ ชะมด อีเห็น ไก่ป่า นกและแมลงอีกหลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกที่เป็นอาหารของชาวบ้านได้อย่างดี เช่น กบ เขียด อึ่งอ่าง